การจดทะเบียนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้เป็นนิติบุคคล ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันที่ 28 กรกฎาคมส่วนการเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ระยะที่ 2 ต้องดำเนินการภายในเดือนสิงหาคม 2553
นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติกล่าวว่าการจดทะเบียนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้เป็นนิติบุคคล ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันที่ 28 กรกฎาคม2553หากไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ทางสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า บรรดาสินทรัพย์ที่มีอยู่นั้น คณะกรรมการหรือสมาชิกกองทุนไม่สามารถนำไปใช้ได้ เพราะถือว่า เป็นทรัพย์แผ่นดิน ส่วนการเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ระยะที่ 2 ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม 2553นอกจากนี้เห็นด้วยที่จะให้มีเจ้าหน้าที่ประจำจังหวัดเพื่อการติดต่อประสานงานให้มีประสิทธิภาพ และทางด้านการแก้ไขปัญหาหนี้ ในกรณีที่ผู้ก่อปัญหาไม่ยอมรับสภาพหนี้นั้น เป็นไปได้หรือไม่ให้ประธานกองทุนรับสภาพหนี้ไปก่อนในนามกองทุน ซึ่งไม่ใช่การรับสภาพหนี้ส่วนตัว หลังจากนั้นให้ดำเนินคดี ฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญาผู้ก่อหนี้ต่อไป
ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติกล่าวด้วยว่าสำหรับในช่วง2 ปีที่ผ่านมา ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินกำชับให้แก้ไขปัญหาหนี้ และในเรื่องนี้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติมีความหนักใจเช่นเดียวกัน แต่ไม่อยากจะใช้ระเบียบข้อ 12 คือการยุบเลิกกองทุนที่มีปัญหา เพราะ นางอัญชลี วานิช เทพบุตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองให้แนวทางไว้ว่า ควรที่จะใช้วิธีการเจรจาก่อนหรือมีมาตรการจากเบาไปหาหนักมากกว่า
ส่วนในปี 2554 นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี มีแนวทาง ให้สวัสดิการสำหรับบุคคลที่เกี่ยวข้องกองทุน ที่เป็นนิติบุคคลสมบูรณ์แล้วด้วย พร้อมกันนี้สนับสนุนงบประมาณ 100 ล้านบาทโดยร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุดและกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เพื่อจัดฝึกอบรมบุคลากร 100,000กว่าคนให้มีความรู้ทางด้านระเบียบกฎหมาย และด้านบัญชี ให้เสร็จภายในปี 2553 ในขณะเดียวกันแต่งตั้ง บุคคลที่เหมาะสม 100 คน เพื่อเป็นผู้ประสานงานจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ให้เป็นนิติบุคคล ประมาณ 3,000 กองทุน ที่ยังไม่ได้ดำเนินการ หรือ 1 คน รับผิดชอบ 30 กองทุน และได้รับค่าใช้จ่ายเป็นค่าเดินทาง กองทุนละ 2,000บาท
สำหรับบันไดขั้นแรก ที่จะดำเนินการต่อไปคือ การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ หรือศูนย์กลางการประสานงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 1 แห่ง ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณแห่งละ 500,000-1,000,000บาท เพื่อให้เป็นแหล่งความรู้ วิชาการ ในลักษณะ พี่ช่วยน้อง เพื่อนช่วยเพื่อน สามารถขับเคลื่อนกองทุนที่อ่อนแอได้ส่วนหนึ่ง และบันไดขั้นที่สอง ที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด คือ การดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา ผู้ก่อหนี้ หรือผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม ระเบียบกฎเกณฑ์ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จนทำให้การดำเนินงานไม่พัฒนาก้าวหน้า ประชาชนที่เกี่ยวข้อง ได้รับความเดือดร้อนเสียหายและกระทบกระเทือนงบประมาณ ของทางราชการ
#
วันพุธที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น