วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

จัดอบรมการช่วยชีวิตขั้นสูง เพิ่มศักยภาพทีมแพทย์และพยาบาลในฝั่งทะเลอันดามัน







สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ร่วมกับโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต จัดอบรมการช่วยชีวิตขั้นสูง เพิ่มศักยภาพทีมแพทย์และพยาบาลในฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต




สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต จัดฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นสูง สำหรับทีมแพทย์และพยาบาลซึ่งดูแลผู้ป่วยวิกฤต รวมถึงเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่มีความสนใจ จากโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต พังงาและจังหวัดกระบี่ประมาณ 40 คน เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับทีมแพทย์และพยาบาลในการช่วยชีวิตขั้นสูงตามมาตรฐานของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมโรคหัวใจอเมริกันหรือ American Heart Association (AHA) ในระหว่างวันที่13-14พฤษภาคมนี้ตั้งแต่เวลา08.30–16.00น.ที่ห้องประชุมคิงคาร์ล กุสตาฟ ชั้น 3 โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตโดยมีพ.ต.อ.นายแพทย์โสภณ กฤษณะรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตและประธานคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิตแห่งประเทศไทย เป็นประธานในการเปิดการอบรม




ทั้งนี้การอบรมในช่วงเช้าเป็นการฝึกสอนในภาคทฤษฏี โดยทีมวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญจากสถาบันต่างๆ คือ พ.ต.อ.นายแพทย์โสภณ กฤษณะรังสรรค์ ,อาจารย์ นายแพทย์ปริญญา คุณาวุฒิ ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี , อาจารย์ นายแพทย์เข็มชาติ หวังทวีทรัพย์ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลศิริราช ,นาวาเอกหญิง จริยา สันตติอนันต์ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ,พ.ต.ท.นายแพทย์ศุภฤกษ์ พัฒนปรีชากุล กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลตำรวจ ส่วนในช่วงบ่ายเป็นภาคปฏิบัติ มีการนำอุปกรณ์เครื่องมือการช่วยชีวิตจำนวนมากให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้ รวมทั้งหุ่นประกอบการสอนที่สามารถตั้งโปรแกรมตามสถานการณ์จำลอง เช่น หุ่นประกอบการสอน สามารถช็อตไฟฟ้าหัวใจ กระตุ้นหัวใจ และใส่ท่อช่วยหายใจได้เหมือนคนจริงๆและการอบรมในครั้งนี้ มีการใช้อุปกรณ์สนับสนุนการฝึกและปฏิบัติที่ทันสมัย มีมูลค่ารวมกันสูงถึงประมาณ 5 ล้านบาทเศษ




พ.ต.อ.นายแพทย์โสภณ กฤษณะรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตและประธานคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่าศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตเปิดให้บริการเป็นปีที่ 6 นับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ว่า ได้พัฒนาการให้บริการผู้ป่วยโรคหัวใจมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการรักษาพยาบาลหรืออุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อให้ตรงตามมาตรฐานคุณภาพโรงพยาบาลระดับสากล JCI นอกจากนั้นยังมีแผนงานส่งเสริมสุขภาพด้านหัวใจให้กับประชาชน และได้ตระหนักถึงความสำคัญของการช่วยชีวิตเบื้องต้น จึงจัดหลักสูตรอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานให้กับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงกลุ่มเยาวชน เช่นโครงการฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน เทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในจังหวัดภูเก็ต ที่กำลังดำเนินอยู่ วัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ฝึกฝนเพื่อเตรียมพร้อมหากเกิดสถานการณ์จริง




นอกจากนี้ยังกล่าวถึงความสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องดูแลผู้ป่วยในภาวะวิกฤตว่าควรมีความเชี่ยวชาญขั้นสูง การกู้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพมีความสำคัญยิ่งในการรักษาผู้ป่วย ทั้งยังเป็นศาสตร์ที่มีความก้าวหน้าและการพัฒนาอย่างรวดเร็วจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นสูงอย่างต่อเนื่อง โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตจึงร่วมกับสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดการอบรมเอซีแอลเอส โพรไวเดอร์(ACLS Provider)โดยแบ่งเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในขณะที่การฝึก อบรมการช่วยชีวิตได้ดำเนินการในจังหวัดภูเก็ตและพื้นที่ใกล้เคียงมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นพัฒนาบุคคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งประชาชนทั่วไปให้มีความรู้อย่างเหมาะสม เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งยังเป็นการสร้างพื้นฐานของการส่งเสริมคนในชุมชนให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกส่วนหนึ่งด้วย



#

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น