
จังหวัดภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ประสบความสำเร็จ ในการสร้างแนวปะการังเทียมที่บริเวณอ่าวทือ เกาะราชาใหญ่ และนักดำน้ำเริ่มรู้จักกันในชื่อว่าสตาร์รูบี้พอยท์
นาย ไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่5ภูเก็ตกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวถึงความสำเร็จในการสร้างแนวปะการังเทียมที่บริเวณอ่าวทือ เกาะราชาใหญ่ ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ตว่าหลังจากศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 ภูเก็ต กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวเกาะราชาใหญ่จัดสร้างแนวปะการังเทียมโดยใช้หมู่เรือประมงจำนวน2ลำคือเรือฮารูบี้(Ha Ruby)ที่เป็นเรือเหล็กอายุประมาณ10ปีและเรือประมงไม้นำไปจมลงสู่ทะเลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 สร้างเป็นแนวปะการังเทียมเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์วิทยาทางทะเลและลดผลกระทบการใช้ประโยชน์แนวปะการังธรรมชาติที่ในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวลงไปดำน้ำชมแนวปะการังจำนวนมาก
ทั้งนี้หลังจากการจมหมู่เรือนี้เพื่อสร้างแนวปะการังเทียมแห่งใหม่ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากบรรดานักดำน้ำ ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยในปัจจุบันนี้มีนักดำน้ำลงไปดำน้ำที่จุดนี้หรือที่รู้จักกันในกลุ่มนักดำน้ำคือจุด“สตาร์รูบี้พอยท์”( Star Ruby Point) จำนวนมาก หรือเฉลี่ยมีนักดำน้ำเข้าไปดำน้ำชมความสวยงามของแหล่งดำน้ำแห่งใหม่ประมาณ100คนต่อวัน พร้อมกับยกให้เป็นแหล่งดำน้ำแห่งใหม่ที่น่าสนใจ และเป็นจุดหมายใหม่ของนักดำน้ำ เนื่องจากแหล่งดำน้ำแห่งนี้นอกจากจะมีเรือประมงที่จมแล้วยังมีความหลากหลายของสัตว์ทะเลนานาชนิดที่เข้าไปอาศัยอยู่ภายในเรือประมงที่จม คือ เต่า ปลาไหลมอเรย์ ปลาผีเสื้อ ปลาปักเป้า และปลาสวยงามอื่นๆจำนวนมาก และนักท่องเที่ยวสามารถลงไปเล่นกับสัตว์ทะเลได้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งสามารถที่จะว่ายน้ำเข้าไปชมความสวยงามภาพในตัวเรือได้ด้วย ดังนั้นจึงเป็นจุดที่น่าสนใจและดึงดูดให้นักท่องให้นักท่องเที่ยวเข้ามาดำน้ำในจุดนี้แทนที่จะไปดำน้ำในจุดดำน้ำที่เป็นแนวปะการังธรรมชาติ ที่จะช่วยให้แนวปะการังธรรมชาติที่เสื่อมโทรมสามารถฟื้นตัวกลับมาได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 ภูเก็ต กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวด้วยว่าจากการจมเรือไปได้ระยะหนึ่งพบว่าปัจจุบันเริ่มมีปะการังชนิดต่างๆลงมาเกาะที่บริเวณตัวเรือทั้ง 2 ลำ และเชื่อว่าอีกไม่นานแหล่งปะการังเทียมแห่งนี้จะมีปะการังธรรมชาติเกิดขึ้นจำนวนมากโดยเฉพาะกัลปังหาที่ลงเกาะตามตัวเรือจำนวนมากแล้ว ส่วนในช่วงไฮซีซั่นที่จะถึงนี้มั่นใจว่าแหล่งดำน้ำแห่งนี้จะมีนักท่องเที่ยวลงไปดำน้ำเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน สำหรับการดำเนินการสร้างหมู่เรือปะการังเทียมที่อ่าวทือ เกาะราชาใหญ่นั้น เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนมีโครงการจะขยายพื้นที่และในขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการหาผู้สนับสนุนในการจัดซื้อเรือเพิ่มเพื่อนำวางในบริเวณแนวปะการังเทียมเพิ่ม เติม เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับแหล่งดำน้ำแห่งใหม่ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ในขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ในการดำน้ำเพื่อไม่ให้แออัดเกินไป เพราะการจัดวางเรือแต่ละลำนั้นจะวางห่างกันจุดละประมาณ 20 เมตร และมีการวางแท่งซีเมนต์โปร่งเชื่อมต่อกันทำให้นักดำน้ำสามารถดำน้ำจากเรือลำหนึ่งไปยังเรืออีกลำได้โดยไม่ขาดตอน
#
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น