สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตประกอบพิธีทำบุญเสริมสิริมงคล บวงสรวงอนุสรณ์สถานขุนเลิศโภคารักษ์ ประจำปี 2553
เมื่อเช้าวันที่ 18 สิงหาคมนี้ ที่บริเวณลานหน้าสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตนายวิบูลชัย ณ ระนอง พร้อมด้วยนางออตตาวา ณ ระนอง ,นางวิภาพรรณ คูสุวรรณ ,นายสมศักดิ์ คูสุวรรณและทายาทขุนเลิศโภคารักษ์ ร่วมประกอบพิธีทำบุญเสริมสิริมงคล บวงสรวงอนุสรณ์สถานขุนเลิศโภคารักษ์ ประจำปี 2553โดยมีนางสาวประภา กาหยี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต,นายสมชาย สกุลทัพ รองอธิการบดีและนายสาวิตร พงศ์วัชร ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรมตลอดจนนางจรูญรัตน์ ตัณฑวณิชและคณาจารย์ เจ้าหน้าที่และนักศึกษามาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้สำนักศิลปะและวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตประกอบพิธีทำบุญเสริมสิริมงคล บวงสรวงอนุสรณ์สถานขุนเลิศโภคารักษ์ เป็นประจำทุกปีประมาณกลางเดือนสิงหาคมโดยคณะทายาทของขุนเลิศโภคารักษ์ ร่วมประกอบพิธีไหว้บรรพบุรุษและวางพวงมาลัยดอกไม้สด พร้อมกับจุดธูปเทียนบูชาเผากระดาษเงิน กระดาษทอง อุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับตามประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดภูเก็ต หลังจากนั้นเริ่มประกอบพิธีทางศาสนา บูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 5 รูปสวดเจริญพระพุทธมนต์ และถวายปัจจัยไทยธรรมเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยมีนักศึกษาโปรแกรมวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ร่วมบรรเลงดนตรีไทยตลอดงาน
สำหรับขุนเลิศโภคารักษ์ มีนามเดิมว่านายตันเค่หลิ่มเกิดเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2439 ที่ที่เมืองตั้งงั๊ว มณฑลฮกเกี้ยน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้ามาเมืองไทยในขณะที่มีอายุได้เพียง 19 ปีเท่านั้น และมีภรรยาคือนางโฮ่ย แซ่หลิม มีธิดา 1 คน คือ นางกาญจนา ณ ระนอง และนายเจริญ แซ่ตัน บุตรบุญธรรม จากประวัติความเป็นมา ทำงานรับจ้างแจวเรือลำเลียงกรรมการเรือขุด บริษัททุ่งคาฮาร์เบอร์ ติน เดรดยิ่ง จำกัดภูเก็ต หรือแม้แต่การรับเหมาทำไม้ฟืนส่งบริษัทนี้ มีฐานะยากจน และทางการเคยมอบหมายหน้าที่ให้เป็นนายท้ายเรือลำเลียงพ่วงตามเรือพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกและพระองค์ประทับแรม ที่จังหวัดภูเก็ตหลายวัน และในครั้งนั้นนายตันเค่หลิ่มได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนเลิศโภคารักษ์ โดยมีนามสกุลพระราชทานคือ “ตันบุญ”ควบคู่ไปกับแหนบ ปปร. พระราชทานและยังรับราชการเป็นกรมการพิเศษของเมืองภูเก็ต
ในช่วงชีวิตของ ขุนเลิศโภคารักษ์ เลือกประกอบอาชีพที่หลากหลาย ทั้งเป็นคนงานเหมืองแร่ดีบุก รับจ้างทำสวนผัก และสองสามีภรรยาเคยถึงขนาดเร่ร่อนอยู่ตามลำธาร รับจ้างแจวเรือลำเลียงและยกฐานะเป็นผู้เฝ้าเครื่องยนต์ ตลอดจนประกอบการเดินเรือโดยสารและขนส่งสินค้าในพื้นที่ระหว่างจังหวัดภูเก็ต พังงากระบี่และอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง หลังจากนั้นเริ่มทำเหมืองแล่นที่บนเขาอานม้า บ้านทุ่งทอง ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ ตลอดจน พรุผักลำ และที่ “ในดี” ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง แต่ไม่ได้ผล จนหันกลับไปประกอบการค้าและเดินเรือดังเดิม ประกอบกับเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือมหาสงครามเอเชียบูรพา การเดินเรืออยู่ในสภาพไม่ปลอดภัยจึงต้องทำงานอย่างหนักในช่วงนั้น
ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่2 ผู้จัดการบริษัททุ่งคาฮาร์เบอร์ ติน เดรดยิ่ง จำกัดภูเก็ตและกงสุลอังกฤษที่จังหวัดภูเก็ต ต้องอพยพจากภูเก็ต ได้ฝากเอกสารสำคัญของบริษัทไว้ที่ขุนเลิศโภคารักษ์ และไม่ยอมบอกที่ซ่อนของเอกสาร จึงถูกทหารญี่ปุ่นทรมาน เมื่อสงครามเลิก บริษัท จึงตอบแทนโดยให้ทำเหมืองสูบในที่ดินประทานบัตรของบริษัท ที่บ้านสะปำ ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมืองภูเก็ตประมาณ 200 ไร่ เพราะภายหลังสงครามประสบปัญหาการค้าตกต่ำ การหันไปประกอบการเหมืองแร่ดีบุกอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าโชคดีพบสายแร่ดีบุกจำนวนมหาศาลทำให้สามารถเปลี่ยนเครื่องจักรเก่าๆ มาเป็นเครื่องจักรใหม่ที่มีคุณภาพดี
ทั้งนี้การขยายงานเหมืองได้อย่างกว้างขวางถึง7-8 แห่งในเวลาเดียวกัน ทำให้ขุนเลิศโภคารักษ์สามารถสร้างฐานะขึ้นสู่ระดับที่มั่นคงภายในระยะเวลา10 ปีหรือจากปี2493-2502 โดยใช้บทเรียน ที่ผ่านมา ให้ระมัดระวังและกล้าตัดสินใจยิ่งขึ้นต่อมาขยายการทำเหมืองสูบไปที่บ้านสามกอง ตำบลรัษฎา และที่อำเภอร่อนพิบูลย์จังหวัดนครศรีธรรมราชด้วย
อย่างไรก็ดีเมื่อประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วขุนเลิศโภคารักษ์ สนับสนุนกิจกรรมสาธารณกุศลต่างๆมากมายทั้งการสร้างห้องพยาบาล โรงพยาบาล โรงเรียน ห้องสมุดจนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญบำเหน็จในพระองค์คือเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น 4 ในปี 2502 ตริตาภรณ์มงกุฏไทยเมื่อปี2510และเหรียญกาชาดสมนาคุณ เนื่องในโอกาสที่บริจาคเงินสร้างศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ 200,000 บาท รวมทั้งในปี 2514เป็นคหบดี ผู้บริจาคที่ดินจำนวน 273 ไร่ให้แก่วิทยาลัยครูภูเก็ตหรือมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตในปัจจุบัน และขุนเลิศโภคารักษ์ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา ที่บ้านเลขที่ 56 ถนนถลาง ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต เมื่อวันที่ 23 มกราคมปีเดียวกัน รวมสิริอายุได้ 76 ปีและเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2533 มีการวางศิลาฤกษ์ เพื่อก่อสร้างอนุสรณ์สถานขุนเลิศโภคารักษ์ เพื่อรำลึกถึงบุคคลสำคัญที่มีคุณูปการสำหรับสังคมภูเก็ต อยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตจนถึงปัจจุบัน
#
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น