วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

นักวิชาการห่วงใยปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว


เมื่อวันที่ 21 มกราคมนี้ นายนิพนธ์ พงศ์สุวรรณ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษและหัวหน้ากลุ่มชีววิทยาและนิเวศวิทยาทางทะเลและชายฝั่งสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลนกล่าวถึงปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในแนวปะการัง ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันเสียหายว่าในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตนั้นมีแนวปะการังกระจายตัวอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินารถ หาดในยาง ใกล้ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง และในบริเวณนี้ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชไม่ได้สั่งปิดแต่อย่างใด แต่ได้รับความเสียหายจากปัญหาปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวเหมือนกับแหล่งปะการังในพื้นที่อื่นๆ เพียงแต่ว่าจุดที่ดำน้ำดูปะการังอยู่ลึกลงไปและเข้าใจว่า การดำน้ำตื้นไม่มีผลกระทบ เพราะส่วนพื้นที่ปะการังในน้ำตื้นของอุทยานแห่งนี้แนวปะการังดังกล่าว ได้รับความเสียหายหรือกลายเป็นผงไปแล้ว ก่อนหน้าที่จะมีการฟอกขาวมานานหลายปีแล้ว



สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุหลายๆเรื่องคือ กรณีน้ำตื้นโดยเฉพาะในโซนที่เป็นพื้นราบเมื่อน้ำแห้งเต็มที่แล้ว แนวปะการังจะโผล่พ้นน้ำ ส่วนสภาพแวดล้อมเกิดความเปลี่ยนแปลงไปมากเช่นมีฝนตกและน้ำจืดจากตัวเกาไหลลงไปสมทบน้ำทะเล และเมื่อแดดออก แดดเผาช่วงน้ำลง ซึ่ง เป็นลักษณะของธรรมชาติที่เกิดขึ้น แต่ในระยะหลังมาเมื่อไม่กี่ปี เคยคุยกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสิรินารถ ทราบว่า มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางไหลของน้ำจืดจากคลองบนฝั่ง โดยน้ำจืดไหลลงทะเลใกล้เขตแนวปะการังเมื่อมีการถมพื้นที่ป่าพรุ ทำให้เส้นทางของคลองเปลี่ยนไปซึ่งอาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่สร้างความเสื่อมโทรมต่อแนวปะการังนี้ได้



นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษและหัวหน้ากลุ่มชีววิทยาและนิเวศวิทยาทางทะเลและชายฝั่งสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลนกล่าวว่าพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงจากปัญหาปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในแนวปะการัง ในปัจจุบันในจังหวัดภูเก็ต ได้แก่เกาะราชาใหญ่ ในพื้นที่ของตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ตบางส่วนเช่นที่บริเวณอ่าวสยาม เสียหายมาก เพราะเป็นแนวปะการังเขากวางผืนใหญ่ นอกจากนี้บริเวณเกาะแอว ตำบลวิชิต อำเภอเมืองภูเก็ต ใกล้กับสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน แหลมพันวา ทางด้านตอนใต้ ที่นี่ ปะการังได้รับความเสียหายเป็นพื้นที่มากกว่าครึ่งหนึ่ง ในขณะที่แนวปะการังของเกาะเฮ ตำบลราไวย์ ด้านตอนเหนือที่มีความเสียหายมากกว่าครึ่งหนึ่งด้วยเหมือนกัน



นอกจากนี้นายนิพนธ์ พงศ์สุวรรณ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษและหัวหน้ากลุ่มชีววิทยาและนิเวศวิทยาทางทะเลและชายฝั่งสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลนระบุด้วยว่า ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่มีข้อมูลปะการังฟอกขาว ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกและด้านตอนใต้หรือในหมู่เกาะบริวารของเกาะภูเก็ต ส่วนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันตกของเกาะภูเก็ตนั้น ยังไม่ได้ไปตรวจสอบ คิดว่าประมาณสัปดาห์หน้าจะลงไปตรวจสอบในบางพื้นที่ได้ เช่นอุทยานแห่งชาติสิรินารถ หาดในยาง ,หาดบางเทาอำเภอถลาง, หาดกมลาและหาดป่าตอง อำเภอกะทู้ ซึ่งจะต้องทยอยสำรวจไล่ลงมา ในเบื้องต้นคาดว่า มีความเสียหายจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวเช่นเดียวกัน ส่วนจะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด จะรายงานให้ทราบต่อไป



พร้อมกันนี้นายนิพนธ์ยังกล่าวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางป้องกันหรือบรรเทาความเสียหายในแนวปะการังที่ฟอกขาวไปแล้วด้วยว่า การปิดพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทางทะเลต่างๆในหลายจังหวัด ถือว่าเป็นแนวทางหนึ่ง เพราะควรจะปิดพื้นที่ในแหล่งที่ มีการท่องเที่ยวที่หนาแน่น และพื้นที่ท่องเที่ยวเหล่านั้น มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบเพิ่มเติม จากการยืนเหยียบของนักท่องเที่ยวรวมทั้งการทิ้งสมอเรือ ตลอดจนการดำน้ำและไปกระแทกปะการังและทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้จำแนกพื้นที่ออกมาแล้วว่าตรงบริเวณไหนบ้างที่จะปิด ส่วนมาตรการอื่นๆนั้น คือการขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ให้อธิบายแก่นักท่องเที่ยว เพื่อเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้และหลีกเลี่ยงการกระทำการใดๆที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการังเพิ่มขึ้นอีก เช่นการไปยืนเหยียบปะการังไม่ได้ แม้แต่การดำน้ำโดยใช้สน็อคเคิล ก็ควรละเว้นในแหล่งปะการังน้ำตื้นมากมาก หรือสามารถยืนถึงตัวแนวปะการัง หรือ ให้ลงไปดูได้ ในช่วงที่น้ำขึ้นหรือมีน้ำท่วมสูง ที่ให้ลงดำน้ำดูได้



“สำหรับการหยิบ การเก็บปะการัง เป็นข้อห้ามสำคัญอีกส่วนหนึ่ง ที่ไม่ได้เด็ดขาด เพราะมีกฎหมายหรือพระราชบัญญัติประมงห้ามอยู่แล้ว แต่ ส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีความตระหนักกันในเรื่องนี้ จึงต้องเน้นให้นักท่องเที่ยวและผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดมากขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ส่วนแนวทางที่สามารถกระทำได้คือการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และการฝึกอบรมไกด์ทัวร์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการฝึกอบรมปีละกี่ครั้ง และผู้ที่ได้รับประกาศนียบัตรหรือผ่านการอบรม เขาต้องกลับมาฝึกอบรมซ้ำหรือทบทวนมากน้อยแค่ไหน และทาง ททท. หรือสำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ รวมทั้งสถาบันการศึกษาในพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั่วประเทศ จะต้องเพิ่มความเข้มงวดกวดขันมากขึ้นไปด้วย” นายนิพนธ์กล่าวและว่า ทางกรมทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน มีโครงการจัดฝึกอบรม ในลักษณะเช่นนี้เช่นเดียวกันในแต่ละปี และเรื่องนี้เห็นว่า มีความสำคัญ เพราะผู้ที่เป็นไกด์ทัวร์หรือมัคคุเทศก์ทางทะเลและชายฝั่ง ทำงานใกล้ชิดกับพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ในทะเล ควรได้รับการอบรมซ้ำหรือทบทวนสม่ำเสมอ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ควรพิจารณาด้วยเหมือนกัน เพราะบางที ตนเองเห็นผู้ขับขี่เรือสปีดโบท พานักท่องเที่ยวไปดำน้ำ บางลำยังทิ้งสมอเรือลงไปบนแนวปะการัง และไม่อธิบายนักท่องเที่ยวว่า สิ่งที่ควรกระทำคืออะไร



นายนิพนธ์กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมา นักศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง ผลกะทบจากการดำน้ำตื้นที่เกาะไข่ โดยออกแบบมาตรการ การจัดการรองรับ เพื่อพิจารณาดูว่าจะสามารถใช้ได้จริงหรือไม่ เพราะการศึกษาพื้นที่เกาะไข่โดยสรุปคือ พบว่ามีผลกระทบจากการท่องเที่ยวและจำนวนนักท่องเที่ยวเกินความสามารถของพื้นที่ท่องเที่ยวในการรองรับหรือ Carrying Capacity อยู่ เนื่องจากพื้นที่เกาะไข่มีขนาดเล็ก สิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอ สำหรับ นักท่องเที่ยวจำนวนมากในขณะท่องเที่ยวในแต่ละวัน



อย่างไรก็ดีนายนิพนธ์กล่าวว่า ถ้ามองในภาพรวมของจังหวัดภูเก็ต การปิดพื้นที่แนวปะการังที่เสียหายจากปรากฏการณ์ฟอกขาว จะมีความยุ่งยากมากกว่าในเขตอุทยาน เพราะว่าผู้ประกอบการภาคเอกชนที่มาทำธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเล ดำน้ำ ค่อนข้างที่จะมีความหลากหลายมากและหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการจัดการพื้นที่ มีความหลากหลายเช่นเดียวกัน คือมีทั้งจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น กรมประมงเกี่ยวข้องในเขตรักษาพืชพันธุ์ ส่วนกรมทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลนเกี่ยวข้องในทุกกรณี



ทั้งนี้ในเบื้องต้น คิดว่าสิ่งที่ทำได้ ในพื้นที่แนวปะการังฟอกขาว นอกเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล ในจังหวัดภูเก็ต หรือที่อื่นๆ แม้ว่าจะไม่ปิดพื้นที่ แต่ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ก็ต้องเข้าไปจัดการ เช่น ยกตัวอย่างกรณีของเกาะเฮ ตำบลราไวย์ เป็นแนวปะการังเขตน้ำตื้น ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่พบว่า มีคนเข้าไปเหยียบปะการังจำนวนมาก หน่วยงานราชการกรมประมงและป่าชายเลน ต้องเข้าไปดูแล เทศบาลตำบลราไวย์ เจ้าของพื้นที่ ต้องออกมาตรการที่ชัดเจนมา ในกรณีที่มีคนขึ้นไปเหยียบแนวปะการัง อาจจะมีการพิจารณาลงโทษ ปรับ ตามข้อบัญญัติท้องถิ่นรวมทั้งการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน ไกด์ทัวร์ เพื่อให้แจ้งต่อลูกทัวร์อีกต่อเนื่องเกี่ยวกับข้อห้ามในการดำน้ำดูปะการัง
#